Last updated: 25 มิ.ย. 2566 | 766 จำนวนผู้เข้าชม |
สิวเกิดขึ้นเมื่อไร? สิวเป็นโรคที่เกิดกับวัยรุ่นกว่า 90% โดยทั่วไปมักเริ่มเป็นวัยรุ่น
แล้วสิวคืออะไร? การเกิดขึ้นของสิวมี 4 ขั้นตอนหลัก ดังนี้:
... เรามาเจาะลึกแต่ละขั้นตอนกันเลยค่ะ….
การเกิดสิว ขั้นตอนที่ 1 : เพิ่มการผลิตน้ำมัน
เมื่อมีการผลิตน้ำมันในต่อมไขมันเพิ่มขึ้น! จะส่งผลต่อการเกิดสิวอย่างไร...?
จริงๆแล้ว สิวเป็นรอยโรคของต่อมน้ำมัน(sebaceous glands) ที่ผิวหนัง ซึ่งก็ตามชื่อของต่อมน้ำมัน เป็นต่อมที่ผลิตน้ำมันให้ผิวหนัง ทำให้ผิวมีความมันและป้องกันไม่ให้ผิวแห้ง
สิ่งหนึ่งที่เป็นตัวการกระตุ้นการผลิตน้ำมันได้อย่างรุนแรง ก็คือฮอร์โมนเพศ นั่นเอง จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้สิวเป็นมากและรุนแรงในระหว่างการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในช่วงวัยรุ่น และการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนนี่เองก็เป็นสาเหตุที่ว่า ทำไมผู้หญิงบางคนถึงมีสิวเห่อขึ้นมาในช่วงเป็นรอบเดือนและช่วงตั้งครรภ์ค่ะ
การเกิดสิว ขั้นตอนที่ 2: การอุดตันของรูขุมขน
ขั้นตอนต่อไปในการเกิดสิว คือการอุดตันของรูขุมขน ต่อมน้ำมันและรูขุมขนเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างกลุ่มเดียวกันในผิวหนัง ที่เรียกว่า pilosebaceous follicle
เมื่อต่อมไขมัน (sebaceous gland) และรูขุมขน ถูกอุดตันด้วยน้ำมัน (sebum) และเซลล์ผิวที่ตายแล้ว (keratin) จะพัฒนากลายเป็น สิวหัวขาว(whiteheads) และสิวหัวดำ (blackheads) เกิดขึ้น
การมีสิวหัวขาวและสิวหัวดำเป็นขั้นตอนแรกสู่การเป็นสิวอักเสบ
การเกิดสิว ขั้นตอนที่ 3 : การเจริญเติบโตของแบคทีเรีย
ในผิวหนังของคนเราปกติ จะมีเชื้อแบคทีเรียประจำถิ่น (skin flora) ที่ชื่อว่า Propionibacterium acnes หรือเรียกสั้นๆ ว่า P. acnes อาศัยอยู่
เมื่อรูขุมขนเกิดการอุดตันขึ้น P. acnes ที่ติดค้างอยู่ในรูขุมขนร่วมกับสภาพแวดล้อมที่มีน้ำมันจากต่อมไขมันมากขึ้น จะเกิดการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนของเชื้อ P. acnes อย่างรวดเร็ว
การเกิดสิว ขั้นตอนที่ 4 : การอักเสบ
ขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการเกิดสิวคือการอักเสบ
แล้วการอักเสบคืออะไร?
การอักเสบในที่นี้ คือการตอบสนองของร่างกายต่อการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย P. acnes การตอบสนองนี้เรียกว่าการตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นวิธีที่ร่างกายสร้างขึ้นมาปกป้องตัวเองจากแบคทีเรีย ไวรัส และสารแปลกปลอมที่เป็นอันตราย
เมื่อเกิดการอักเสบขึ้น สิวจะมีลักษณะสีแดง บวม และเจ็บเมื่อสัมผัส
บริเวณที่มักเกิดสิวขึ้นบ่อย ได้แก่ ใบหน้า หลัง และหน้าอก เนื่องจากบริเวณเหล่านี้ มีต่อมน้ำมันอยู่หนาแน่นกว่าบริเวณอื่น
ตอนที่ 2: รอยแผลเป็นจากสิว
ในตอนที่ 1 คุณได้เรียนรู้เกี่ยวกับพื้นฐานของการเกิดสิวแล้ว ถึงเวลาเข้าสู่หัวข้อเกี่ยวกับรอยแผลเป็นจากสิวกันต่อเลยค่ะ
มาต่อกันเลย…
รอยแผลเป็นจากสิวคืออะไร?
จำนวนคนไข้ที่เป็นแผลเป็นหลุมสิว มีประมาณ 1-11% เมื่อเทียบกับประชากรทั่วไป อาจดูเหมือนจำนวนไม่มากในหมู่คนทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมีแผลเป็นจากสิวเกิดขึ้นแล้ว อาจทำให้ใบหน้าของคนไข้รายนั้นผิดรูปเสียโฉม และกระทบต่อคุณภาพการดำเนินชีวิต ทำให้เกิดความเครียดทางจิตใจ วิตกกังวล และซึมเศร้าได้
ในฐานะที่หมอเป็นแพทย์ด้านผิวหนัง ที่เชี่ยวชาญการปรับรูปหน้า ชะลอวัย และรักษาแผลเป็นหลุมสิว รวมทั้งส่วนตัวหมอเองก็เป็นคนที่มีปัญหาหลุมสิวที่ใบหน้าด้วยเหมือนกัน
หมอเชื่อว่าการรักษาแผลเป็นหลุมสิวอย่างถูกวิธี ตามลักษณะของหลุมสิวที่เป็น (ไม่ใช่รักษาด้วยวิธีเดียว เป็นคอร์สไปเรื่อยๆ แบบเดิมๆที่ทำกันมา) และด้วยวิธีการที่เหมาะสมในคนไข้แต่ละรายนั้นมีความสำคัญมาก เพื่อให้ได้ผลลัพธ์การรักษาที่ดีขึ้นได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ค่ะ
หลุมสิว แต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไร?
แผลเป็นที่เกิดจากสิว สามารถจำแนกได้เป็นประเภทต่างๆได้แก่ แผลเป็นนูน/คีลอยด์, แผลเป็นหลุมสิว: icepick boxcar rolling scar, รูขุมขนกว้าง และประเภทย่อยอื่นๆ เช่น tethered scar, anchored scar, linear scar
ในการให้คำปรึกษากับคนไข้ที่เป็นหลุมสิวในเวชปฏิบัติของหมอ อันดับแรก หมอจะทำการตรวจทางผิวหนังอย่างละเอียด เพื่อระบุประเภทของแผลเป็นหลุมสิวของแต่ละบุคคลให้ได้ก่อน
โดยหมอจะใช้แสงไฟหลายทิศทาง เพื่อดูความลึกของหลุม ดูการฝ่อตัวของชั้นไขมัน สัมผัสผิวเพื่อระบุความหนาและตำแหน่งของพังผืดที่ฝังลึกในผิวหนัง สัมผัสคุณภาพพื้นฐานผิวเดิมของคนไข้ว่ามีความหนาบางมากแค่ไหน และให้คนไข้ขยับแสดงสีหน้า เพื่อดูว่าหลุมสิวมีผังผืดเกาะแน่นและฝังลึกกับชั้นกล้ามเนื้อด้วยหรือไม่
หลังจากนั้นทำการตรวจวิเคราะห์ และถ่ายรูปทำแผนที่ลักษณะหลุมสิวแล้ว ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการวางแผนการรักษาร่วมกันกับคนไข้ต่อไป
การตรวจทางผิวหนังของหมอเป็นพื้นฐานในการวางแผนการรักษา และเลือกใช้โปรแกรมแก้ไขหลุมสิวที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคนไข้แต่ละราย
อะไรทำให้เกิดแผลเป็นจากสิว?
ในตอนที่ 1 ของบทความนี้ เมื่อคุณได้เรียนรู้เกี่ยวกับ 4 ขั้นตอนของสิวไปแล้ว คุณน่าจะจำได้ว่าขั้นตอนที่ 4 ของกระบวนการเกิดสิว คือการอักเสบ
เมื่อมีการอักเสบ จะทำให้สิว ปวด บวม แดงและเจ็บเมื่อสัมผัส นอกจากนี้การอักเสบยังเป็นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของร่างกายรู้จักต่อเชื้อแบคทีเรีย รวมถึง P. acnes ด้วย ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่ามีบทบาทสำคัญในการเกิดสิว
เมื่อแบคทีเรียถูกภูมิคุ้มกันกำจัดไปแล้ว การรักษาบาดแผล(wound healing) ก็จะเริ่มต้นขึ้น เพื่อซ่อมแซมร่องรอยความเสียหาย หลังการต่อสู้กันของแบคทีเรียกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
กระบวนการรักษาบาดแผล(wound healing process) เป็นหนึ่งในกระบวนการทางชีววิทยาที่ซับซ้อนที่สุดในร่างกาย และเกี่ยวข้องกับตัวกลาง สารสื่อประสาท เมทริกซ์นอกเซลล์(extracellular matrix components, ECM) ไฟโบรบลาสต์(fibroblasts) และเซลล์ชนิดต่างๆ อีกมากมาย
**ข้อควรรู้ ผิวหนัง (ชั้นหนังแท้ dermis) ประกอบด้วยเส้นใยคอลลาเจน(collagen) เส้นใยอิลาสติน(elastin) และสิ่งอื่นๆ อีกมากมาย ที่เรียกว่า เมทริกซ์นอกเซลล์(extracellular matrix, ECM)
สมดุลของการรักษาบาดแผล
กระบวนการรักษาบาดแผลซ่อมแซมผิว (wound healing process) ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่ชั้นหนังแท้ (dermis) ตรงรอบๆรูขุมขนและต่อมไขมัน เนื่องจากเป็นจุดกำเนิดของสิว ดังนั้นการเกิดหลุมสิวก็อยู่ที่บริเวณนี้ด้วยเช่นกัน
กระบวนการรักษาบาดแผลซ่อมแซมผิว จะถูกควบคุมโดยระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะทำงานเป็นทั้งการกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ และย่อยสลายทำลายเนื้อเยื่อที่เสียหาย(ระหว่างการต่อสู้กันของแบคทีเรียกับระบบภูมิคุ้มกัน) ในเวลาเดียวกัน
ดังนั้น นี่คือความสมดุลระหว่างการสร้างและการสลายตัวของเนื้อเยื่อ ทั้งส่วนของคอลลาเจน อีลาสติน และECM
ในคนไข้ที่มีแนวโน้มที่จะเกิดแผลเป็นจากสิว มักมีความไม่สมดุลของกระบวนการตรงนี้ บางส่วนมากเกินไป หรือบางส่วนก็น้อยเกินไป!
หากสมดุลเปลี่ยนไปสู่การทำลายเส้นใยคอลลาเจนที่มากเกินไป จะเกิดการสูญเสียเนื้อเยื่อ คือแผลเป็นแบบหลุมสิว(atrophic acne scar) ซึ่งพบได้ 80-90% ของผู้ที่มีรอยแผลเป็นจากสิวทั้งหมด หรือหากมีการสร้างเนื้อเยื่อเพิ่มขึ้นมากเกินไปก็จะทำให้เกิดแผลเป็นนูนหรือแผลเป็นคีลอยด์ (hypertrophic scar/keloid)
เคยมีการศึกษา เปรียบเทียบการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน ในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นสิวแล้วมีแผลเป็น กับกลุ่มที่เป็นสิวแต่ไม่เกิดแผลเป็น พบว่า กลุ่มที่มีแผลเป็นสิว จะมีปฏิกิริยาการอักเสบรอบๆ pilosebaceous unit ที่รุนแรงกว่าและยาวนานกว่า
ทำไมบางคนจึงเป็นหลุมสิว ในขณะที่บางคนมีสิวแต่ก็ไม่เป็น?
วัยรุ่นกว่าร้อยละ 90 ต้องมีสิวเกิดขึ้นสักครั้งในชีวิต บางคนอาจมีสิวแค่หนึ่งหรือสองเม็ด ในขณะที่บางคนอาจมีสิวหัวช้าง เป็นก้อนซิสต์อักเสบรุนแรง เป็นๆหายๆอยู่นานหลายปี ในคนไข้ที่เป็นสิวรุนแรงมักจะเกิดแผลเป็นจากสิวได้ง่ายกว่า อย่างไรก็ตามแม้ในบางรายที่เป็นสิวไม่รุนแรง ก็มีแผลเป็นเกิดขึ้นได้เช่นกัน
แล้วทำไมถึงเป็นเช่นนั้น…?
ทุกอย่างขึ้นอยู่กับกระบวนการรักษาบาดแผล (wound healing process) ของแต่ละคน ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วขึ้นอยู่กับยีนเป็นตัวกำหนด ยีนที่ว่านี้ เป็นตัวกำหนดความสมดุลระหว่างการสร้างและการสลายตัวของเนื้อเยื่อในระหว่างการรักษาบาดแผล
เราไม่สามารถบอกล่วงหน้าได้เลยว่า คนไหนที่เป็นสิวแล้วแต่จะไม่มีแผลเป็น หรือคนไหนจะเป็นสิวแล้วมีแผลเป็นหลุมสิวรุนแรงเกิดขึ้น ตัวกำหนดสิ่งที่จะเกิดขึ้นนั้นล้วนอยู่ในยีนที่สืบทอดนั่นเอง
การศึกษามาอย่างยาวนานเกี่ยวกับแผลเป็นสิวในปัจจุบัน พบว่า มีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อกระบวนการซ่อมแซมผิวหลังการเกิดสิว แม้ว่าสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดแผลเป็นหลุมสิวยังไม่เป็นที่เข้าใจอย่างแน่ชัดสมบูรณ์ แต่อย่างน้อยเราก็ได้ทราบถึงปัจจัยสำคัญหลายอย่างที่มีบทบาทในการเกิดแผลเป็นหลุมสิว เพื่อการรักษาอย่างครอบคลุมต่อไป
วิธีรักษาแผลเป็นจากสิวที่ดีที่สุดคืออะไร?
การรักษาหลุมสิวขึ้นอยู่กับชนิดของหลุมสิวที่เป็น ความรุนแรงของแผลเป็น และสภาพผิวของคนไข้ Key successในการรักษา คือการวิเคราะห์ลักษณะหลุมสิวของแต่ละบุคคลให้ออก ระบุประเภทของหลุมสิวและสภาพผิวในแต่ละบุคคลอย่างถูกต้อง จากนั้นจึงเลือกใช้วิธีการรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละประเภทหลุมสิวและสภาพผิวหน้า การใช้ชีวิตของแต่ละบุคคล
***ดังนั้นจึงยังไม่มีวิธีใดเพียงวิธีเดียว ไม่มีเทคโนโลยีใดเทคโนโลยีหนึ่งที่ดีที่สุด ที่สามารถจัดการกับหลุมสิวได้ทุกประเภท
โปรแกรมแก้ไขหลุมสิวของที่คลินิก จึงเป็นวิธีการรักษาหลุมสิวเฉพาะบุคคล ที่หมอจะออกแบบวางแผน ให้เหมาะกับหลุมสิว และสภาพพื้นฐานผิว รวมถึงวิถีชีวิตของคนไข้แต่ละรายเสมอค่ะ