ต้องรู้!! ก่อนตัดสินใจรักษาหลุมสิว กับ Dr. Ramita

Last updated: 15 มิ.ย. 2566  |  685 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ต้องรู้!! ก่อนตัดสินใจรักษาหลุมสิว กับ Dr. Ramita

Acne Scar Treatments การรักษารอยแผลเป็นหลุมสิว

วิธีการรักษาหลุมสิวแบบเฉพาะของหมอ จะเน้นไปที่การรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมที่สุดสำหรับหลุมสิวประเภทนั้นๆ การตรวจวิเคราะห์อย่างละเอียดพิถีพิถันและวางแผนการรักษาเฉพาะรายบุคคล จุดที่แตกต่างของการรักษาแบบฉบับของหมอ คือ การใช้หัตถการทักษะฝีมือแพทย์เป็นหลัก แล้วใช้เลเซอร์เป็นส่วนเสริมตามความเหมาะสม


ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการรักษาแผลเป็นหลุมสิว

  • หลุมสิว ไม่ว่าจะเป็นมานานหรือรุนแรงแค่ไหนก็สามารถดีขึ้นได้
  • 3 ปัจจัย ที่มีผลต่อวิธีการรักษา คือ 1) ลักษณะของผิวหนัง 2)ประเภทของหลุมสิว 3)ระยะเวลาในการพักฟื้น
  • เทคนิคในการรักษามีหลายหลายวิธี เช่น การ Subcision ตัดพังผืด การลอกผิวระดับลึก การผ่าตัด เลเซอร์ และกลุ่มพลังงานอื่นๆ
  • หลุมสิวแต่ละประเภท จะมีวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุดแตกต่างกันไป
  • ประเภทของหลุมสิว กับ ลักษณะสภาพผิวของแต่ละบุคคล คือกุญแจสำคัญของการกำหนดขั้นตอนการรักษา
  • โดยเฉลี่ยแล้ว 70-80% ของรอยแผลเป็นหลุมสิวสามารถดีขึ้นได้ ด้วยการแก้ไขเฉพาะบุคคล

 
เราจะสามารถคาดหวังผลลัพธ์การรักษาหลุมสิวได้มากน้อยเพียงใด?
โดยทั่วไปแล้ว คนไข้ที่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีจะสามารถดีขึ้นได้กว่า 70%* ด้วยการประเมินแบบมาตรฐาน Global Improvement Scale ทั้งนี้%ผลลัพธ์การรักษาจะถูกวัดผลแบบ objective คือมีเกณฑ์มาตรฐานที่ใช้ระยะในการอ้างอิงเท่ากัน ไม่ใช่ใช้ความรู้สึกพึงพอใจส่วนตัวในตัดสิน หรือการเพ่งมองแต่ละจุดในระยะที่ใกล้มากๆ
* Global Improvement คืออะไร? หมายถึงการมองภาพโดยรวมแล้วเห็นว่าหลุมสิวส่วนใหญ่ดีขึ้น ไม่ได้หมายถึงการพยายามเพ่งมองหลุมสิวแต่ละจุดด้วยการส่องกระจกในระยะใกล้ หรือในบางมุมแสงที่จะทำให้เห็นรอยชัดมากกว่าปกติ
 
ทำไมวิธีการรักษาหลุมสิวของหมอจึง Unique ไม่เหมือนใคร?
การรักษาของหมอ จะใช้วิธีที่เฉพาะเหมาะสมกับหลุมสิวแต่ละประเภท หลักๆแล้วจะเป็นการใช้หัตถการฝีมือแพทย์ (manual work) กล่าวคือหมอใช้วิธีที่ไม่ใช่เลเซอร์เป็นหลัก ภาษาการแพทย์เรียกกรรมวิธีแบบนี้ว่า Non-Energy Based Acne Scar Revision ในส่วนเลเซอร์หรือกลุ่มเครื่องมือพลังงานอื่นๆ หมอจะพิจารณาใช้เพื่อเก็บรายละเอียดให้ดีขึ้นอีกเท่านั้น

คนไข้ส่วนใหญ่มักจะมีแผลเป็นหลายแบบผสมกัน ได้แก่ rolling scars, boxcar scars, icepick, tetherd,  anchored scars จึงเป็นเหตุผลที่ว่าจำเป็นต้องใช้หลากหลายวิธีร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น หัตถการการผ่าตัดพังผืด ผ่าตัดเย็บหลุมสิว การแต้มกรด การลอกผิว และในบางกรณีก็ต้องใช้เลเซอร์ร่วมด้วย
 
แผลเป็นหลุมสิวแต่ละประเภท จะมีวิธีการรักษาเฉพาะประเภทที่เหมาะสมที่สุดแตกต่างกันไป ดังนั้นโดยหลักการแล้วเทคนิคของหมอจึงต้องใช้หลายหัตถการให้ตรงกับหลุมสิวที่มีและครอบคลุมปัญหาที่คนไข้เป็นมากที่สุด
 

ทำไมวิธีรักษาด้วยหัตถการแพทย์จึงดีกว่าแพคเกจเลเซอร์ ??
Why are manual methods better than laser packages? ประโยคคำถามและคำตอบนี้หมอไม่ได้คิดขึ้นมาเองนะคะ แต่เป็นแพทย์ผิวหนังผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาแผลเป็นหลุมสิวระดับโลกชาวออสเตรเลีย Dr Davin Lim เป็นคนเขียนไว้ในบทความของเค้าค่ะ
แพทย์ท่านนี้ให้เหตุผลโดยอ้างอิงตามหลักฐานในงานศึกษาวิจัยระดับสากล และประสบการณ์การรักษาที่มีมาอย่างยาวนานว่า
"บริบทของเค้าเองในฐานะแพทย์ผิวหนัง งานหลักของเค้า ก็คือ การทำหัตถการฝีมือแพทย์ 100% เค้ามักจะใช้เลเซอร์เป็นเพียงเครื่องมืออุปกรณ์ช่วยเสริมในงานเท่านั้น (ถึงแม้ว่าในคลินิกของเค้า จะมีเครื่องเลเซอร์มากถึง 40 กว่าเครื่องก็ตาม)
ยกตัวอย่าง ในเคสหลุมสิวแบบ Rolling scar ที่รุนแรงมาก งานของเค้าก็คือ ทำหัตถการผ่าตัดพังผืด subcision เป็นหลัก ซึ่งการที่จะทำงานนี้ได้นั้น ต้องมีการวางแผนตรวจอย่างละเอียดทางผิวหนังมาก่อน และเมื่อผ่าตัดเข้าไปก็จะสามารถระบุลักษณะตำแหน่งพื้นที่ของพังผืดได้ดียิ่งขึ้นด้วยทักษะการจับสัมผัสของมือเค้าเอง จากนั้นจึงใช้เครื่องมือตัดพังผืดที่เหมาะสมในการรักษารอยแผลเป็นเหล่านั้น การแก้ไขแผลเป็นหลุมสิวด้วยหัตถการมือแพทย์ คือ Gold Standard ในการรักษาอย่างแท้จริง"
 
เลเซอร์ Fractional คืออะไร และทำงานอย่างไรกับรอยแผลเป็นหลุมสิว?
กลุ่ม Fractional Laser ไม่ว่าจะเป็น CO2, Profractional, Pico Fractional,  Fraxel เลเซอร์เหล่านี้ทำงานโดยรักษาในส่วนของพื้นผิว skin’s surface ด้วยการทำให้พลังงานออกมาเป็นช่องๆคอลัมน์ ส่วนความลึกที่ลงไปใต้ผิว ขึ้นอยู่กับความยาวคลื่นของแต่ละพลังงานเลเซอร์ โดยแพทย์จะต้องเป็นผู้ควบคุม ตั้งค่าพลังงานความยาวคลื่นที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดสำหรับสภาพผิวแต่ละบุคคล โดยใช้เวลาหยุดทำงานพักหน้าให้น้อยที่สุด

Fractional Laser Resurfacing เป็นการรักษาแผลเป็นหลุมสิวที่ดีที่สุดหรือไม่?
ไม่ใช่เลย การรักษาที่เหมาะสมที่สุดนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง รวมถึงประเภทของแผลเป็น สภาพสีผิว ( Skin typeตามชาติพันธุ์ดั้งเดิม) และข้อจำกัดในการพักหน้า ในกรณีแผลเป็นหลุมสิวชนิดตื้นๆ เช่น box car & shallow pick – icepick scars การทำเลเซอร์ถือเป็นวิธีการรักษาเสริมที่เหมาะสม (Credit: Dr Davin Lim)

TCA CROSS หรือ Paint ใช้กับแผลเป็นหลุมสิวแบบใด
TCA CROSS ย่อมาจาก TriChloroAcetic Acid Chemical Reconstitution of Skin Scars เทคนิคนี้ถูกคิดค้นขึ้นเมื่อกว่าทศวรรษที่แล้วและยังคงเป็นหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการรักษาหลุมสิวแบบจิกลึก Icepick scars, boxcar scars และรูขุมขนกว้าง  ผู้ป่วยส่วนใหญ่ต้องใช้การรักษา 2-4 ครั้ง จึงจะให้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น


 
Subcision คืออะไร?
Subcision คือหัตถการแพทย์ที่ใช้เข็มหรือเครื่องมือพิเศษในการตัดเลาะผังผืดใต้ผิวหนังให้ขาดออกจากกัน ถือเป็นหนึ่งในหัตถการหลักที่หมอใช้เป็นประจำเกือบทุกเคส และถือเป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด สำหรับกลุ่มแผลเป็นหลุมสิวประเภท rolling, tethered, anchored และ bound down acne scars



โดยพื้นฐานแล้ว หลุมสิวกลุ่มนี้จะมีพังผืดยึดติดกับโครงสร้างชั้นลึกลงไปใต้ผิวหนัง เช่น ชั้นเนื้อเยื่อไขมัน หรือแม้แต่ที่พื้นผิวของชั้นกล้ามเนื้อก็ตาม เนื่องจากเมื่อเกิดปฏิกิริยาการอักเสบของสิวแล้วกินพื้นที่บริเวณกว้างและลึกลงไปมากพอ ที่จะไปกระทบกับโครงสร้างชั้นใต้ผิวหนังต่อเป็นทอดๆ

หลังจากนั้นเมื่อมีกระบวนการซ่อมแซมบาดแผลเกิดขึ้น ก็จะมีการผลิตเนื้อเยื่อพังผืดตามมาจำนวนมากอย่างควบคุมไม่ได้ แทรกลงไปทุกชั้นผิวจนถึงชั้นไขมันหรือชั้นกล้ามเนื้อด้วย ทำให้เกิดแผลเป็นที่ยุบตัวลง กลายเป็นหลุมสิวแบบที่เรียกว่า tethered หรือ anchored acne scar ขึ้นมาได้นั่นเองค่ะ

ในกลุ่มรอยแผลเป็นหลุมสิวประเภทนี้ วิธีที่จะสามารถตัดผังผืดนี้ได้ ต้องเป็นการใช้เครื่องมือหรือเข็มแบบแบบต่างๆเข้าไปตัดในแนวขวางกับพังผืดเท่านั้น การใช้วิธีตัดลงไปในแนวดิ่งด้วยเลเซอร์ หรือ microneedling จะไม่สามารถตัดได้เลย

 

สารเติมเต็ม Filler มีบทบาทอย่างไรในการรักษาหลุมสิว?

การทำ Subcision ผ่าตัดพังผืด ร่วมกับการฉีดสารเติมเต็ม เป็นหัตถการอย่างหนึ่งที่มักจะให้ผลลัพธ์หลังการรักษาที่ชัดเจนและดีขึ้นในทันที อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดขึ้นอยู่กับแผลเป็นหลุมสิวในแต่ละบุคคล ความรุนแรงของแผลเป็นจากสิว ปริมาณของพังผืด ตำแหน่งของเนื้อเยื่อแผลเป็น และความหนาของผิวหนังคนไข้ด้วย



 ในการรักษาหลุมสิว สารเติมเต็ม Filler มีบทบาทดังนี้

  1. เป็นบัฟเฟอร์กั้นไม่ให้พังผืดที่ตัดไปกลับมาติดกันอีก
  2. เป็นสารเติมเต็มแทนที่เนื้อเยื่อที่ขาดหายไปของแผลเป็นหลุมสิว
  3. สามารถกระตุ้นคอลลาเจนได้โดยตรง จากคุณสมบัติของฟิลเลอร์กลุ่มที่เป็น Collagen Stimulating Filler (เช่น PLLA, CAH, PMMA, LHMHA, PCL Filler) หรือแม้แต่กลุ่มที่เป็น Volumizing Filler อย่าง HA Filler ก็สามารถช่วยกระตุ้นคอลลาเจนได้จากกลไก fibroblast stretching ได้เช่นกัน

    หลักการสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจ คือ ขั้นตอนการแก้ไขแผลเป็นหลุมสิวทั้งหมดนี้ จะอาศัยระบบภูมิคุ้มกันของคนไข้เองในการซ่อมแซมและสร้างคอลลาเจนใหม่ ในบางกรณีที่เนื้อเยื่อไขมันยุบฝ่อตัวลงเป็นบริเวณกว้างและลึกมาก ระบบภูมิคุ้มกันที่สร้างเนื้อเยื่อใหม่ด้วยร่างกายของคนไข้เอง จะไม่สามารถสร้างคอลลาเจนใหม่มาทดแทนตรงจุดนี้ได้เลย ดังนั้นจะเหลือทางเลือกเพียง 2 ทางคือ การฉีดเติมเต็ม ด้วยไขมัน กับการฉีดสารเติมเต็มฟิลเลอร์ เท่านั้นเอง
   อย่างไรก็ตาม การฉีดไขมันตัวเองเพื่อเติมหลุมสิวนี้ ไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากประมาณการณ์หรือคาดเดาอัตราการติดได้ลำบาก การติดของไขมันที่ฉีดขึ้นกับปัจจัยหลายอย่างมาก ไม่สามารถคาดการณ์ความแน่นอนที่จะติดได้

 

การทำ skin needling ช่วยรักษาสำหรับรอยแผลเป็นหลุมสิวได้อย่างไร?
กลุ่ม skin needling เช่น Dermapen Dermastamp ช่วยรักษาแผลเป็นหลุมสิวในระดับเริ่มต้นที่ไม่รุนแรงมากได้ เป็นวิธีที่มีประโยชน์ เห็นผลดีในหลุมสิวที่ไม่รุนแรง และค่าใช้จ่ายไม่สูง
 
อายุที่มากขึ้นมีผลต่อการรักษาหรือไม่?
อายุเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการรักษาอย่างมาก เนื่องจากเมื่อเวลาผ่านไปโครงสร้างเนื้อเยื่อและกระดูกใบหน้าจะฝ่อตัวยุบลงตามวัย เมื่ออายุมากขึ้นโครงสร้างเนื่อเยื่อที่รองรับผิวหน้าของคุณจะลดขนาดและปริมาตรลง ควบคู่ไปกับการย้ายที่ของไขมันชั้นตื้นที่หย่อนคล้อยลงมากองกันที่บริเวณใบหน้าส่วนล่าง (ทำให้เห็นเป็นร่องลึกต่างๆ และผิวหน้าหย่อนคล้อย)

สิ่งที่ตามมาก็คือโครงสร้างที่ช่วยพยุงผิวหนังทั้งหมดจะมีการเสื่อมสภาพ ยุบฝ่อตัวลงไปเรื่อยๆตามอายุที่เพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้ทั้งการทำ Skin Rejuvenation แก้ไขโครงสร้างผิวที่เสื่อมสภาพตามวัย และการรักษารอยแผลเป็นหลุมสิว ควบคู่กันจึงเป็นสิ่งสำคัญ
 
การสูญเสียปริมาตรตามวัยของเนื้อเยื่อและชั้นกระดูกที่พยุงใบหน้าจากอายุที่มากขึ้น (Aging process: Age-related Volume loss)นั้น สามารถรักษาได้ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งจาก2วิธีนี้เท่านั้น คือ การฉีดฟิลเลอร์สารเติมเต็ม และการฉีดไขมัน
*กลุ่มเครื่องมือพลังงานเลเซอร์ ไม่สามารถทำให้เกิดการเพิ่มปริมาตรของโครงสร้างเนื้อเยื่อที่พยุงใบหน้าได้เลย
 
หากคนไข้มีอายุมากขึ้นแล้วมีปัญหาที่โครงสร้างพยุงผิวตามวัยร่วมด้วย การใช้สารเติมเต็ม เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงและช่วยยกพยุงผิวหนัง จึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้ผลลัพธ์ผิวหน้าโดยรวมดีขึ้นได้มากที่สุด
 


มุมมองในการรักษาหลุมสิว?
วิธีการรักษาหลุมสิวแบบเฉพาะของหมอ จะเน้นไปที่การรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมที่สุดสำหรับหลุมสิวประเภทนั้นๆ การตรวจวิเคราะห์อย่างละเอียดพิถีพิถัน และวางแผนการรักษาแบบเฉพาะรายบุคคล จุดที่แตกต่างของการรักษาแบบฉบับของหมอ คือ การใช้หัตถการทักษะฝีมือแพทย์เป็นหลัก แล้วใช้เลเซอร์เป็นส่วนเสริมตามความเหมาะสม

คนไข้ส่วนใหญ่จะมีแผลเป็นหลายประเภท ได้แก่ boxcar scars, icepick scars และ rolling scars  หลุมสิวแต่ละประเภทจะมีการรักษาที่เหมาะสมที่สุดแตกต่างกันไป ไม่ใช่หลุมสิวทุกชนิดเป็นที่ตอบสนองได้ดีต่อการทำเลเซอร์- รอยแผลเป็นหลุมสิวบางชนิด เช่น icepick scar จะตอบสนองได้ดีต่อ TCA CROSS ในขณะที่หลุมสิวแบบ rolling scars  จะตอบสนองได้ดีกับการทำ Subcision ร่วมกับฉีดสารเติมเต็ม
 
หลุมสิวคือแผลเป็นชนิดหนึ่ง คนไข้จำเป็นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีใดที่จะทำให้หายเรียบเนียนกริบเสมือนผิวปกติที่ไม่เคยมีแผลเป็นมาก่อนได้เลย 100%   แต่การรักษาหลุมสิวด้วยวิธีที่เหมาะสมตามประเภทของหลุมที่เป็น จะทำให้แผลเป็นหลุมสิวนั้นดีขึ้นได้ ไม่ว่าแผลเป็นหลุมสิวนั้นจะเป็นมานานหรือรุนแรงแค่ไหนก็ตาม ทั้งนี้มีปัจจัยหลายอย่างที่มีผลต่อผลลัพธ์การรักษา เช่น ประเภทของหลุมสิวที่เป็น สีผิวพื้นฐานของคนไข้ สภาพผิว เนื้อเยื่อโครงสร้างของใบหน้าที่เปลี่ยนแปลงตามอายุที่มากขึ้น และข้อจำกัดเฉพาะตัวของแต่ละบุคคล
สิ่งเหล่านี้เป็นตัวกำหนดวิธีการขั้นตอนในการรักษา หากทำโดยแพทย์ผู้ชำนาญซึ่งสามารถวิเคราะห์วางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม หลุมสิวก็จะดีขึ้นได้ชัดเจนในระยะเวลาการรักษาที่ไม่นานเกินไป

เพราะการรักษาหลุมสิวให้ดีขึ้นได้นั้น เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ที่แพทย์ผู้รักษาจำเป็นต้องมีความชำนาญและเข้าใจในลักษณะหลุมสิวที่เป็นอย่างละเอียดถ่องแท้ การแก้ไขหลุมสิวจำเป็นต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน โดยเฉพาะในกลุ่มการรักษาที่ใช้หัตถการแพทย์เป็นหลัก ซึ่งต้องอาศัยความละเอียดประณีต และทักษะฝีมือความชำนาญของแพทย์ผู้ทำเป็นอย่างมาก จึงจะทำให้ได้ผลลัพธ์การรักษาที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเกิดผลข้างเคียงที่น้อยที่สุด
 
 

Powered by MakeWebEasy.com