ฟิลเลอร์หลุมสิวคืออะไร ฉีดหลุมสิวใช้ฟิลเลอร์ตัวไหนดี? คุ้มค่าไหมที่จะฉีดฟิลเลอร์หลุมสิว!?

Last updated: 2 ธ.ค. 2566  |  2362 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ฟิลเลอร์หลุมสิวคืออะไร ฉีดหลุมสิวใช้ฟิลเลอร์ตัวไหนดี? คุ้มค่าไหมที่จะฉีดฟิลเลอร์หลุมสิว!?

ฟิลเลอร์หลุมสิว 

การฉีดฟิลเลอร์หลุมสิว เป็นอีกวิธีการรักษาที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในต่างประเทศ เพราะ ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาหลุมสิววิธีอื่นใดที่ได้ผลเร็วเท่ากับการฉีดฟิลเลอร์  ซึ่งโดยปกติฟิลเลอร์จะถูกใช้ในการเติมร่องลึกให้ตื้นขึ้นได้ทันทีอยู่แล้ว ดังนั้นในหลุมสิวที่มีการยุบตัวลงไปของชั้นผิว จึงสามารถแก้ไขด้วยฟิลเลอร์ให้หลุมสิวนั้นตื้นขึ้นได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีการใช้ฟิลเลอร์ฉีดแก้ไขแผลเป็นชนิดยุบตัว (Atrophic Scar) แบบอื่นๆ ทั้งที่หน้าและลำตัวได้ด้วย เช่น แผลเป็นอีสุกอีใส แผลเป็นจากอุบัติเหตุ แผลเป็นหลังการผ่าตัดศัลยกรรม

ถ้าแผลเป็นมีพังผืดถูกยึดตัวไว้กับโครงสร้างผิวข้างใต้ การแก้ไขจำเป็นต้องตัดพังผืดนี้ออกก่อนแล้วจึงฉีดฟิลเลอร์ จึงจะได้ผลลัพธ์ที่ดี และเป็นวิธีที่ไม่ยุ่งยากมากนัก แต่ต้องอาศัยทักษะฝีมือความชำนาญของแพทย์ผู้ทำหัตถการเป็นอย่างมาก

     ฟิลเลอร์หลุมสิวจะให้ผลลัพธ์ที่ดีในทันที นอกจากนี้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า คอลลาเจนที่ผิวเราเองจะถูกกระตุ้นจากกลไกการยืดตัวของไฟโบรบลาสต์ (Fibroblast Stretching)ด้วยตัวฟิลเลอร์นี้เอง ซึ่งเป็นอีกคุณประโยชน์ของฟิลเลอร์ ที่ช่วยให้ผิวแผลเป็นที่บางลงถูกทำให้หนาขึ้นจากคอลลาเจนที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเอง

เห็นมีแต่การใช้ฟิลเลอร์เติมริ้วรอยร่องลึก สามารถเอามาใช้เติมหลุมสิวได้ด้วยจริงหรอ?
ฟิลเลอร์ถูกนำมาใช้เพื่อเติมเต็มร่องลึก รอยแผลเป็นในผู้ป่วยได้ทุกวัย แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่มีแผลเป็นยุบหรือหลุมสิวเมื่อเวลาผ่านไป คือ เนื่องจากการสูญเสียปริมาตรตามปกติที่เกี่ยวข้องกับอายุที่มากขึ้น ชั้นกระดูกและเนื้อเยื่อเส้นเอ็นกล้ามเนื้อ รวมทั้งชั้นไขมันจะฝ่อตัวสลายไป ทำให้แผลเป็นหลุมสิวดูแย่ลงหรือเป็นมากขึ้นได้เมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งหมายความว่า แม้จะทำการรักษาผู้ป่วยที่มีแผลเป็นยุบได้อย่างเหมาะสมเพียงพอแล้ว แต่การสูญเสียปริมาตรของโครงสร้างผิวตามกลไกธรรมชาติ (Aging process: Age-related Volume loss)ดังกล่าว ก็ยังดำเนินต่อไป จึงควรรักษาภาวะเหล่านี้ร่วมด้วยอย่างต่อเนื่องเสมอ

เมื่อแผลเป็นหลุมสิวมีอายุมากขึ้น ริ้วรอยเหี่ยวย่นและร่องลึกแห่งวัย ก็จะก่อตัวขึ้นในแผลเป็นหลุมสิวนั้นด้วย การฉีดฟิลเลอร์เข้าไปพยุงไว้ใต้บริเวณหลุมสิว ถือเป็นการป้องกันไม่ให้ร่องลึกแห่งวัยเกิดขึ้นเร็วจนทำให้หลุมสิวดูรุนแรงขึ้น แต่ถ้าหากมีริ้วรอยร่องลึกอยู่แล้ว ก็ควรฉีดฟิลเลอร์แก้ไขและยกกระชับริ้วรอยแห่งวัยนั้นไปด้วย
 
การสูญเสียปริมาตรตามวัยของเนื้อเยื่อและชั้นกระดูกที่พยุงใบหน้าจากอายุที่มากขึ้น (Aging process: Age-related Volume loss)นั้น สามารถรักษาได้ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งจาก2วิธีนี้เท่านั้น คือ การฉีดฟิลเลอร์สารเติมเต็ม และการฉีดไขมัน
**กลุ่มเครื่องมือพลังงานเลเซอร์ ไม่สามารถทำให้เกิดการเพิ่มปริมาตรของโครงสร้างเนื้อเยื่อที่พยุงใบหน้าได้เลย
 
หากคนไข้มีอายุมากขึ้นแล้วมีปัญหาที่โครงสร้างพยุงผิวตามวัยร่วมด้วย การใช้สารเติมเต็ม เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงและช่วยยกพยุงผิวหนัง จึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้ผลลัพธ์ผิวหน้าโดยรวมดีขึ้นได้มากที่สุด ชนิดของฟิลเลอร์ที่ใช้ฉีดรอยแผลเป็นหลุมสิว

  • ฟิลเลอร์ชนิด Hyaluronic acid (HA) : ฟิลเลอร์ประเภทนี้มีความปลอดภัยสูง เนื่องจากมียาที่ใช้สลายได้ทันที มีที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ใช้ในการเติมเต็มหลุมสิวแบบที่มีการยุบตัวลงของเนื้อเยื่อชั้นไขมันและปากแผลกว้าง เช่น Rolling scar, Boxcar scar ฟิลเลอร์ชนิดนี้มีคุณสมบัติเด่นในด้านการเติมเต็ม แต่ก็ยังช่วยกระตุ้นคอลลาเจนที่ผิวได้เช่นกันผ่านกลไก Fibroblast stretching 
  • นอกจากนี้ยังมี HA ชนิดที่มีคุณสมบัติเป็นแบบ Hybrid คือได้ทั้งเติมเต็มและกระตุ้นคอลลาเจนได้ดี คือ  High-And-Low-Molecular-Weight Hyaluronic acid หรือชื่อการค้า Profhilo
  • ฟิลเลอร์ชนิด Biostimulators : ฟิลเลอร์ประเภทนี้มีคุณสมบัติในการกระตุ้นคอลลาเจนที่ผิวโดยตรง ด้วยกลไกทางชีวภาพของส่วนประกอบในฟิลเลอร์เหล่านั้น เช่น สาร PLLA (Poly-L-Lactic Acid) หรือชื่อการค้า Sculptra, สาร CaHA (Calcium Hydroxy Apatite) หรือชื่อการค้า Radiesse, สาร Polymethyl mathacrylate (PMMA) หรือชื่อการค้า Bellafill, สาร Polycaprolactone (PCL) หรือชื่อการค้า Gouri, Ellanse, Lafullen

    ****สารเติมเต็มกลุ่มนี้หลายตัวเป็นที่นิยมสำหรับเติมหลุมสิวในต่างประเทศ โดยเฉพาะ Bellafill ที่ผ่าน USFDAในข้อบ่งชี้เพื่อรักษาหลุมสิวโดยตรง แต่ในปัจจุบันตัวที่ผ่าน อย.ในไทย มีเพียง Sculptra และ Gouri เท่านั้น 
  • ฟิลเลอร์ชนิดถาวร: ไม่เหมาะที่จะนำมาใช้ เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่แก้ไขไม่ได้ในระยะยาว

 

สารเติมเต็ม Filler มีบทบาทอย่างไรในการรักษาหลุมสิว?

ในการทำ Subcision ผ่าตัดพังผืด ร่วมกับการฉีดสารเติมเต็ม เป็นหัตถการอย่างหนึ่งที่มักจะให้ผลลัพธ์หลังการรักษาที่ชัดเจนและดีขึ้นในทันที อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดขึ้นอยู่กับแผลเป็นหลุมสิวในแต่ละบุคคล ความรุนแรงของแผลเป็นจากสิว ปริมาณของพังผืด ตำแหน่งของเนื้อเยื่อแผลเป็น และความหนาของผิวหนังคนไข้ด้วย

 

ในการรักษาหลุมสิว สารเติมเต็ม Filler มีบทบาทดังนี้

  1. เป็นบัฟเฟอร์กั้นไม่ให้พังผืดที่ตัดไปกลับมาติดกันอีก
  2. เป็นสารเติมเต็มแทนที่เนื้อเยื่อที่ขาดหายไปของแผลเป็นหลุมสิว
  3. สามารถกระตุ้นคอลลาเจนได้โดยตรง จากคุณสมบัติของฟิลเลอร์กลุ่มที่เป็น Collagen Stimulating Filler (เช่น PLLA, CAH, PMMA, LHMHA, PCL Filler) หรือแม้แต่กลุ่มที่เป็น Volumizing Filler อย่าง HA Filler ก็สามารถช่วยกระตุ้นคอลลาเจนได้จากกลไก fibroblast stretching ได้เช่นกัน

หลักการสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจ คือ ขั้นตอนการแก้ไขแผลเป็นหลุมสิวทั้งหมดนี้ จะอาศัยระบบภูมิคุ้มกันของคนไข้เองในการซ่อมแซมและสร้างคอลลาเจนใหม่ ในบางกรณีที่เนื้อเยื่อไขมันยุบฝ่อตัวลงเป็นบริเวณกว้างและลึกมาก ระบบภูมิคุ้มกันที่สร้างเนื้อเยื่อใหม่ด้วยร่างกายของคนไข้เอง จะไม่สามารถสร้างคอลลาเจนใหม่มาทดแทนตรงจุดนี้ได้เลย ดังนั้นจะเหลือทางเลือกเพียง 2 ทางคือ การฉีดเติมเต็ม ด้วยไขมัน กับการฉีดสารเติมเต็มฟิลเลอร์ เท่านั้นเอง

อย่างไรก็ตาม การฉีดไขมันตัวเองเพื่อเติมหลุมสิวนี้ ไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากประมาณการณ์หรือคาดเดาอัตราการติดได้ลำบาก การติดของไขมันที่ฉีดขึ้นกับปัจจัยหลายอย่างมาก ไม่สามารถคาดการณ์ความแน่นอนที่จะติดได้

ฟิลเลอร์หลุมสิวต้องใช้ปริมาณมากแค่ไหน
ปริมาณฟิลเลอร์ที่ต้องใช้ในการฉีดเติมหลุมสิวในคนไข้แต่ละรายนั้นแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับโครงสร้างผิวเดิมของคนไข้ ลักษณะความลึกกว้างของหลุมสิว และข้อจำกัดของคนไข้แต่ละราย

แพทย์ผู้ทำการรักษาจะต้องทำการประเมินรอยแผลเป็นและตัดสินใจเลือกขนาดยาที่ดีที่สุดหลังจากซักประวัติและตรวจร่างกายผู้ป่วยแล้ว หากผู้ป่วยมีประวัติภาวะแทรกซ้อนจากฟิลเลอร์ผิวหนัง หรือหากมีงบประมาณจำกัด อาจต้องใช้ขนาดยาที่น้อยลงกว่ามาตรฐานในช่วงเริ่มต้น แล้วขยายระยะเวลาการรักษา จำนวนครั้งที่ทำมากขึ้น
 
โดยทั่วไปแล้ว ในการหวังผลกระตุ้นคอลลาเจน มักจะเริ่มต้นด้วย HA Filler หรือ ฟิลเลอร์สกินบูสเตอร์ 1-3 cc หรือฟิลเลอร์กลุ่ม Biostimulator 1-2 โดส โดยอาจต้องทำการรักษาต่อเนื่องหลายครั้ง
ในส่วนของการเติมเต็มชั้นเนื้อเยื่อที่ยุบตัวลง ปริมาณฟิลเลอร์ที่ใช้จะขึ้นกับลักษณะของหลุมสิว ว่ามีความกว้างลึกเพียงใด และต้องใช้มากน้อยเพียงใด

สรุป

การฉีดเติมเต็มหลุมสิว ไม่ว่าจะด้วยการใช้ฟิลเลอร์หรือสารฟื้นฟูเนื้อเยื่ออื่นๆ เป็นวิธีที่ทำให้หลุมสิวดีขึ้นได้อย่างรวดเร็วที่สุด โดยเฉพาะในหลุมสิวประเภท Rolling scar และ boxcar scar บางประเภท

การฉีดเติมเต็มหลุมสิว หากได้รับการดูแลอย่างถูกต้องโดยแพทย์ผู้ชำนาญ และเลือกใช้สารเติมเต็มหรือฟื้นฟูเนื้อเยื่อผิว ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นฐานผิวของแต่ละบุคคลแล้ว ถึงแม้ว่าสารเติมเต็มนั้นจะสลายตัวหมดเมื่อเวลาผ่านไป แต่คอลลาเจนที่ถูกสร้างด้วยร่างกายคนไข้เองทั้งทางตรงและทางอ้อมยังคงอยู่ มากน้อยขึ้นกับชนิดของสารเติมเต็ม และพื้นฐานผิวเดิมตามกรรมพันธุ์ของคนไข้เอง

อย่างไรก็ตาม การเติมเต็มหลุมสิว เป็นหัตถการแพทย์ที่ต้องใช้ทักษะความชำนาญขั้นสูงกว่าการฉีดฟิลเลอร์ทั่วไปเป็นอย่างมาก และมีโอกาสเกิดการอุดตันของเส้นเลือดได้ จึงควรได้รับการดูแลรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จึงจะได้ผลลัพธ์ที่ปลอดภัยและเห็นผลดีที่สุด

Powered by MakeWebEasy.com